วันอังคาร 29 สิงหาคม 2566 ที่โรงแรมเซาเทิร์นลันตา รีสอร์ท อำเภอเกาะลันตา ดร.วรรณดี เกตแก้ว รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากระบี่ เป็นประธานการประชุม“การจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาและการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมในเกาะลันตา จังหวัดกระบี่” ระยะที่ 2 ซึ่งศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤติ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการจัดการประชุม เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทุกกลุ่มวัฒนธรรม ศาสนาและภาษา (ไทยพุทธ ไทยมุสลิม ไทยเชื้อสายจีนและกลุ่มอูรักลาโวยจ) ได้เรียนรู้ผ่านต้นทุนทางภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง โดยปรับประยุกต์หรือบูรณาการระหว่างความรู้ในห้องเรียนผสมผสานกับองค์ความรู้ท้องถิ่น โดยใช้แนวทางการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา (ภาษาไทย-อูรักลาโวยจ) สำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียนชาวเลอูรักลาโวยจ และส่งเสริมให้นักเรียนอีกหลายกลุ่มวัฒนธรรมได้ใช้แนวทางการจัดการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรม (ICE) เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจในอัตลักษณ์ของตนเอง รวมถึงการเคารพ ให้เกียรติและปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมต่อผู้อื่นที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป โดยมี ดร.มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์ ประธานศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต ม.มหิดล และหัวหน้าโครงการ “การจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาและการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมในเกาะลันตา จังหวัดกระบี่” กล่าววัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิหมู่บ้านเด็กเพซตาล๊อตซี่ (PCF) ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ อย่างต่อเนื่อง มีการดำเนินงานในระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 – 2565 และเข้าสู่การดำเนินงานระยะที่ 2 ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2566 ไปจนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2568